โรคไตวายเรื้อรัง เกิดจากอะไร
นอกจากจะเปลี่ยนไตใหม่เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ของผู้เป็นโรคนี้ เพราะกว่าจะรู้ตัวก็เหมือนสายไปเสียแล้ว ไตทำงานได้ไม่ถึง 20% ภาวะตรงนี้จะมีของเสียและน้ำส่วนเกินในร่างกายมาก ต้องแก้ไขด้วยการฟอกไต หากไม่ฟอกไตหรือฟอกเลือดก็จะถึงแก่ชีวิตด้วยไตวายเรื้อรัง
คุณเชื่อหรือไม่ว่า ไต รับบทหนักในร่างกายคนเรา หากเปรียบก็คือโรงบำบัดน้ำเสียดีๆ นั่นเอง และจากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า คนไทยมีเปอร์เซ็นต์ความเป็นโรคไตสูงขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันผู้ป่วยไตวายเรื้อรังต้องรับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และปลูกถ่ายไตรวมกันไม่ต่ำกว่า 15,000 ราย
ไต เป็นอวัยวะคู่ที่สำคัญต่อชีวิต อยู่บริเวณหลังช่องท้องด้านข้างใต้ต่อซี่โครงบริเวณส่วนกลางของหลัง มีรูปร่างเหมือนถั่ว ขนาดประมาณกำปั้นของตัวเอง หน้าที่หลักของไตคือการกรองของเสียในเลือดและควบคุมจำนวนน้ำ เกลือแร่และสารต่างๆ ในร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล ในแต่ละวันจะมีเลือดไหลเวียนผ่านไตทั้ง 2 ข้างถึงประมาณ 230 ลิตร สามารถกรองน้ำและของเสียออกได้วันละ 2.3 ลิตร ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกขับออกมาเก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะ ก่อนถ่ายออกจากร่างกายเป็นน้ำปัสสาวะ
ของเสียในเลือดเกิดจากอาหารที่เรากินเข้าไป และบางส่วนจากการสลายตัวของเนื้อเยื่อในร่างกายที่เกิดจากการเผาผลาญเพื่อสร้างพลังงาน ต้องยอมรับเลยว่า ธรรมชาติสร้างไตขึ้นมาอย่างยอดเยี่ยมที่สามารถเลือกกรองเฉพาะของเสียหรือส่วนเกินของสารที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหากสะสมไว้มากเกินไป โดยผ่านเครื่องกรองขนาดย่อยๆ กว่าล้านหน่วยที่เรียกว่า nephrons หากไตเกิดเสียสมรรถภาพในการกรองเลือดจากสาเหตุใดก็ตาม จะทำให้ระบบควบคุมเสียไป เกิดการคั่งของของเสียในเลือด ทำให้เกิดโรคไตวาย และเสียชีวิตในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีไตเทียม หรือปลูกถ่ายไต
โรคไตวายเรื้อรัง เกิดจากอะไร
1.โรคเบาหวาน และ ความดันโลหิตสูง (สาเหตุหลักถึง 80% ที่ทำให้เกิดไตวาย
2.นิ่วในไตและระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง
3.ไตอักเสบ (กรวยไต,หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต,ถุงน้ำในไต)
4.โรค SLE (ภูมิแพ้ทำลายตัวเอง)
5.กินยาหลายชนิดต่อเนื่องนานๆโดยเฉพาะยาที่เป็นพิษต่อไต ประเภทยาแก้ปวดข้อ ยาคลายกล้ามเนื้อเป็นประจำ
อาการของไตวายเรื้อรัง
-หนังตา มือ และเท้า จะบวม (ไตไม่สามารถขับน้ำออก)
-ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
-อาการเหนื่อยง่าย ซีด อ่อนเพลีย ความจำไม่ดี
-ปัสสาวะเป็นฟอง ขุ่น เลือดปน (อาการแต่ละอย่างหรือเป็นทั้งหมด)
-ปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ
-เจ็บเอว ปวดหลัง
-คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
-ผิวหนังแห้ง คล้ำและมีอาการคันตามผิวหนัง
-ความต้องการทางเพศลดลง
-กระดูกหักง่าย (แคลเซียมในเลือดต่ำ)
10 วิธีห่างไกลโรคไต
เพื่อความไม่ประมาท รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ ประธานคณะทำงานวันไตโลก ได้แนะนำวิธีดูแลตัวเองแบบง่ายๆ มาฝากกัน
1.ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
2.ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูง
3.ในกลุ่มคนที่เริ่มมีไตเสื่อม ต้องควบคุมอาหารประเภทโปรตีน เกลือและโคเลสเตอรอล
4.หยุดสูบบุหรี่
5.ห้ามใช้ยาเกินขนาด หรือยาที่มีพิษต่อไต เช่น ยาแก้ปวดข้อ คลายเส้น ฯลฯ
6.รักษาเรื่องโลหิตจางที่เกิดจากโรคไต
7.หลีกเลี่ยงอาหารประเภทถั่วในคนที่มีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง หรือผลไม้บางชนิดในคนที่มีระดับโปแตสเซียมในเลือดสูง เช่น ขนุน ลำไย ทุเรียน
8.ป้องกันไม่ให้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้ออักเสบบ่อยๆ
9.ใช้ยาขับปัสสาวะเท่าที่จำเป็น และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เสมอ
10.ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
อย่างที่แนะนำไปแล้ว การระวังและป้องกันแต่เนิ่นๆ ดูจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด