โรคมะเร็ง 3 อันดับแรกที่พบมากที่สุดในแต่ละเพศ
ที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยจากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2554 แสดงให้เห็นว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปีละประมาณ 60,000 คน หรือโดยเฉลี่ยทุก ๆ 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึง 7 คน และยังคงพบอัตราการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
กรมการแพทย์เผย ทุก ๆ 1 ชั่วโมง มีผู้ป่วยเสียชีวิตโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 7 คน พร้อมย้ำยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายได้
สำหรับโรคมะเร็ง 3 อันดับแรกที่พบมากที่สุดในแต่ละเพศ คือ
เพศชาย
1. โรคมะเร็งตับและทางเดินน้ำดี
2. โรคมะเร็งปอด
3. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
เพศหญิง
1. โรคมะเร็งเต้านม
2. โรคมะเร็งปากมดลูก
3. โรคมะเร็งตับและทางเดินน้ำดี
สำหรับการรักษาโรคมะเร็งจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาที่ต่อเนื่องและเสียค่าใช้จ่ายสูง เพราะเหตุนี้จึงส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็ง จึงต้องทำการลดอัตราการเกิด และการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพื่อให้แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้ผลลัพธ์จากความก้าวหน้าทางวิชาการ เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การควบคุมโรคมะเร็งระดับชาติ เพื่อที่คนไทยจะห่างไกลจากโรคมะเร็งและยกระดับการแพทย์สาธารณสุขให้สูงขึ้น รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ก้าวไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จึงได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลมะเร็งในส่วนภูมิภาคอีก 7 แห่ง ของกรมการแพทย์ จัดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติในหัวข้อ "National Strategies to Nationwide Cancer Care" ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ในหลากหลายสาขากว่า 800 คน จากทั่วประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้บุคลากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งได้รับทราบถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และวิทยาการต่าง ๆ ทั้งในด้านการควบคุม ป้องกัน และการรักษา เพื่อให้การรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น
นอกจากนี้นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยังได้กล่าวอีกว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ของร่างกายที่มีความผิดปกติที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโตและมีการแบ่งตัวมากกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดก้อนเนื้อ และลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง หลอดเลือด และหลอดน้ำเหลือง จนในที่สุดก็จะเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ส่งผลทำให้อวัยวะส่วนนั้นทำงานผิดปกติ โดยโรคมะเร็งมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิด 3 ประการคือ
1. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก อาทิเช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม หรือแม้แต่ยารักษาโรค รวมทั้งการได้รับรังสี และเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและพยาธิบางชนิด
2. พฤติกรรมในการดำรงชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และมีไขมันสูง หรืออาหารที่มีดินประสิวและไหม้เกรียมเป็นประจำ
3. พันธุกรรม ได้แก่ ความผิดปกติของยีนและความบกพร่องของภูมิคุ้มกัน
ในปัจจุบันมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายได้ และทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและระยะของมะเร็งที่พบ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็สามารถรักษาให้หายขาดได้มากกว่าระยะลุกลามหรือระยะสุดท้าย ดังนั้น การตรวจวินิจฉัยมะเร็งระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญมาก
โดยวิธีในการป้องกันโรคมะเร็งก็ไม่ใช่เรื่องยาก และมีหลักการง่ายๆ ก็คือออกกำลังกายเป็นประจำ ทำจิตใจให้แจ่มใส กินผักผลไม้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของมื้ออาหารในแต่ละมื้อ ไม่รับประทานอาหารที่ซ้ำซากจำเจ และสดใหม่อยู่เสมอ ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงอาหารปิ้งย่างหรือทอดจนไหม้เกรียม ลดอาหารประเภทหมักดอง และปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดดิบ ๆ รวมทั้งไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ไม่อยู่ในที่มีแดดจัดเป็นเวลานาน ที่สำคัญควรไปตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจวินิจฉัยหาโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรก และควรไปเป็นประจำทุกปีเพื่อความปลอดภัย
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม